kie

free counters

ปฏิทิน



เผ่าไทโย้ย


ประวัติความเป็นมาในสมัยรัชกาลที่ 2 เกิดศึกเจ้าอนุวงศ์ขึ้น เจ้าอนุวงศ์ได้ยกทัพขึ้นตีเมืองนครราชสีมา เรื่อยไปจนถึงเมืองสระบุรี ขากลับได้กวาดต้อนคนจากแถบฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ข้ามฟากไปเมืองเวียงจันทน์ เพื่อที่จะสะสมกำลังผู้คนต่อไป ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ปราบกบฎเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เสร็จสิ้น ทรงมอบนโยบายให้นำคน ที่เจ้าอนุวงศ์กวาดต้อนมาพร้อมกับชาวเมืองในละแวกนั้น กลับมายังฝั่งขวาของแม่น้ำโขง โดยมีพระยาสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองนครพนม และเจ้าเมืองยโสธรพร้อมด้วยเจ้าเมืองสกลนคร คือ พระยาประจันตประเทศธานีไปเกลี้ยกล่อมเจ้าเมือง ท้าวเพีย ตลอดจนผู้คนที่อยู่ตามเมืองต่าง ๆ ให้ข้ามมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน อยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงจากการเกลี้ยกล่อมในครั้งนี้ ปรากฎว่ามีผู้คนอพยพเข้ามาจำนวนมาก โดยเฉพาะจากเมืองฮ่อมท้าวฮูเซ หรือบางทีเรียกเมืองฮ่อมท้าว โดยมีท้าวติวสร้อยเป็นหัวหน้าและมีกลุ่มผู้นำอีกหลาย ๆ คนเช่น ท้าวศรีสุนาครัว ท้าวจันทนาม ท้าวนามโคตร ซึ่งผู้คนที่อพยพมาในครั้งนั้นมีจำนวนมากถึงสามพันกว่าคน เข้ามาเลือกหลักแหล่งทำเลที่ตั้งบ้านเรือนเพื่อทำมาหากิน และได้ตัดสินใจเลือกเอาบริเวณริมลำน้ำยาม ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำสงครามเป็นที่ตั้งบ้านเรือนและเรียกบ้านตนเองว่า “บ้านม่วงริมยาม” หรือบางคนเรียกว่า “บ้านท่าเมืองฮ้าง” เพราะสันนิษฐานว่าที่นี่เคยเป็นเมืองร้างมาก่อน ต่อมาทางกรุงเทพ ฯ ได้แต่งตั้งเจ้าเมืองขึ้นปกครองโดยอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าเมืองสกลนคร คือพระยา
จันตประเทศธานี แต่มีชาวโย้ยบางกลุ่มที่ไม่ยอมสมัครใจอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าเมืองสกลนคร แต่ไปสมัครใจขึ้นต่อพระยาสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองนครพนมแทน ทางคณะลูกขุนศาลาในกรุงเทพ ฯ จึงกำหนดให้ท้าวศรีสุราช ซึ่งเป็นเจ้าเมืองและท้าวเพีย พร้อมด้วยชาวบ้านม่วงริมยามขึ้นมาทำราชการอยู่กับเมืองนครพนม และได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ บ้านม่วงริมยาม โดยมีจำนวนประชากรที่เริ่มตั้งบ้านเมืองประมาณสองพันกว่าคนในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านม่วงริมยามขึ้นเป็นเมือง เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองอากาศอำนวย และโปรดเกล้า ฯแต่งตั้งท้าวศรีสุราชเป็น หลวงพลานุกูล เป็นเจ้าเมืองอากาศอำนวย พร้อมทั้งพระราชทานเครื่องยศตามตำแหน่งเมือง จ.ศ.1216 (พ.ศ.2396)นอกจากชาวไทยโย้ยกลุ่มใหญ่ ที่ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองอากาศอำนวยแล้วยังมีชาวไทยโย้ยบางส่วนอพยพไปตั้งบ้านเรือนขึ้นที่เมืองวานรนิวาสในปี พ.ศ.2404 และในปีพ.ศ.2406 ได้ตั้งเมืองที่บ้านโพนสว่าง หาดยาวริมห้วยปลาหาง ทำให้ประชากรที่เมืองอากาศอำนวย มีจำนวนลดลงตามลำดับ เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองในปี พ.ศ. 2435 เปลี่ยนการเรียกเมืองเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบลตามลำดับ เมืองอากาศอำนวย มีฐานะเป็นอำเภออากาศอำนวย จนถึง พ.ศ.2457 ได้มีราชกิจจานุเบกษา ยุบอำเภออากาศอำนวยไปรวมกับอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เมืองอากาศอำนวยจึงมีสภาพเป็นเพียงตำบลหนึ่งของอำเภอท่าอุเทนเท่านั้น ต่อมาปี พ.ศ. 2458 ได้มีการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองใหม่อีกครั้ง เทศาภิบาลมณฑลอุดรธานี ได้มาตรวจราชการที่อำเภออากาศอำนวย เห็นว่าการคมนาคมและการติดต่อไปมากับจังหวัดนครพนมไม่สะดวก เพราะอำเภออากาศอำนวยอยู่ห่างจากตัวจังหวัดนครพนมมาก จึงเสนอขอเปลี่ยนแปลงเขตการปกครองใหม่ โดยยุบอำเภออากาศอำนวย เป็นตำบลอากาศ และให้ขึ้นอยู่ในความปกครองของอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนครจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2506 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ได้มาตรวจราชการที่ภาคอีสาน และได้มาเยี่ยมที่ตำบลอากาศด้วย ได้พิจารณาเห็นว่าตำบลอากาศตำบลวาใหญ่ ตำบลโพนงาม และตำบลโพนแพง รวม 4 ตำบล ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอวานรนิวาส การติดต่อไปมาของราษฎรตำบลกับที่ว่าการอำเภอไม่สะดวก อีกทั้ง 4 ตำบลดังกล่าวมีบ้านเรือนราษฎรตั้งอยู่หนาแน่น พอที่จะจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอได้ และสาเหตุอีกประการหนึ่งคือ เป็นท้องที่มีผู้ก่อร้ายแทรกซึมและเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์อยู่เป็นจำนวนสมควรที่จะมีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองออกไปควบคุม ดูแลและป้องกันอย่างใกล้ชิดจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ ขึ้นกับอำเภอวานรนิวาส เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 และต่อมามีความเจริญมากขึ้นจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2508 จนถึงปัจจุบัน

วัฒนธรรมการแต่งกายประเพณีการแต่งกายของชาวโย้ย แต่งกายด้วยเสื้อผ้าย้อมครามทอมือ เย็บด้วยมือสีกรมท่าเข้มออกดำ กางเกงขาทรงกระบอก เสื้อแขนทรงกระบอก มีผ้าขาวม้าฝ้ายไหมผูกเอว ส่วนหญิง เสื้อทำด้วยผ้าฝ้ายย้อมครามทอมือ สีดำแขนทรงกระบอกผ้าถุงเป็นผ้ามัดหมี่ทอเอง หรือผ้าไหมมัดหมี่มีหัวซิ่นและตีนซิ่น มีผ้าสไบลวดลายต่าง ๆ พาดไหล่ สามารถแต่งได้ทุกเวลา เป็นชุดแต่งกายที่ประหยัด ปัจจุบันชาวไทโย้ยบ้านอากาศอำนวยจะแต่งเฉพาะมีงานประเพณีเทศกาลงานบุญในหมู่บ้านเท่านั้น ในชีวิตประจำวันจะแต่งแบบง่าย ๆ เหมือนคนกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งส่วนมากจะซื้อจากตลาด แต่ถ้าเป็นงานศพจะแต่งกายไว้ทุกข์สีดำหรือขาวหรือสีสุภาพที่สุด อย่างไรก็ตามสำหรับการแต่งกายกลุ่มไทยโย้ยนี้พอจะแยกวัยได้ดังนี้
เด็กหญิงเสื้อ สวมเสื้อคอวง(คอกลม) มีจีบรูดถี่ ๆ ไม่มีแขน สวมหัว ตัดด้วยผ้าฝ้ายผ้านุ่ง นิ่งซิ่นต่ง (ผ้าถุง) เป็นซิ่นหมี่ลาดหรือหมี่คั่นลาดเล็ก ๆ เรียกซิ่นคั่นหรือหมี่หมากไม (ผ้าที่ทอด้วยเส้นด้ายแค่ 2 สี) ปั่นผสมเข้าในหลอดเดียวกันทอออกมาจะเป็นลานหมี่คั่นหมากไนไม่ต้องทัดแบบมัดหมี่ทอได้เลย ลายของซิ่นนิยมลายขอลายหมากจับเป็นต้นทรงผม นิยมตัดสั้นแค่ใบหู ปัจจุบันคือทรงบ๊อบหญิงสาวเสื้อ สวมเสื้อต่อง เสื้ออ้อง (เสื้อชั้นใน) ผ่าหน้าติดหมากกะติ่ง(กระดุม)หรือผ้าเคียนอกเป็นผ้าขาวม้าฝ้ายย้อมครามขณะอยู่บ้านเสื้อแขนกระบั้ง (แขนกระบอก) เมื่อไปทำบุญที่วัด บางครั้งจะห่มผ้าเบี่ยง(ผ้าสไบที่เป็นผ้าขาวม้าฝ้ายย้อมคราม หรือเป็นผ้าฝ้ายทอมือสีขาวไม่ย้อมคราม ชาวบ้านเรียกผ้าแพร) ทับตัวเสื้อผ้านุ่ง นุ่งซิ่นต่ง (ผ้าถุง) เป็นซิ่นหมี่ลาดหรือหมี่คั่น มักนุ่งแบบเหน็บชายพกไม่คาด เข็มขัด (เพิ่งมาคาดเข็มขัดเมื่อประมาณ 60 ปี ที่ผ่านมา แม้เมื่อ 30 ปีก่อนหน้านี้ก็ยังนิยมเหน็บชายพกเป็นส่วนใหญ่) การนุ่งซิ่นของผู้หญิงต้องต่อตีนและหัวซิ่นเนื่องจากฟืมที่ใช้ทอมีหน้าแคบ ผ้าที่นำมาต่อเป็นผ้าฝ้ายทดลายคั่นทางยาวหลากสี เวลาทอจะทอทางขวางแต่เวลาต่อหัวซิ่นจะวางผ้าทางยาว นั่นคือเส้นยืนจะเป็นสีล้วนและเส้นคั่นใช้หลากสี ไม่นิยมต่อหัวซิ่นด้วยผ้าพื้นทรงผม นิยมไว้ผมทรงซิงเกิ้ล ทรงดอกระทุ่ม ทรงบ๊อบ และผมยาวเกล้ามวยสูงก็มี สำหรับหญิงที่แต่งงานและมีบุตรแล้ว มักจะเปลือยอกเพื่อความสะดวกในการให้นมบุตรส่วนหญิงที่มีฐานะจึงจะสวมเสื้อทับเสื้ออ้องอีกชั้นหนึ่ง
หญิงมีอายุเสื้อ สวมเสื้อต่องหรือเสื้ออ้อง บางครั้งใช้ผ้าขาวม้าฝ้ายมาห่มเป็นผ้าเบี่ยงปิดหน้าอกเท่านั้นก็ไปไหน ๆ ได้ผ้านุ่ง นุ่งซิ่นหมี่ลาดหรือหมี่คั่นทรงผม ทรงซิงเกิ้ลหรือเกล้าผมมวยสูงเด็กชายเสื้อ เดิมพ่อแม่มักไม่ค่อยได้ให้สวมเสื้อ พอโตขึ้นไปโรงเรียน จึงได้สวมเสื้อซึ่งตัดจากผ้าฝ้ายทอมือมีทั้งย้อมครามหรือไม่ย้อมตามโอกาสที่ใช้ซ่งหรือกางเกง ถ้าเป็นเด็กเล็กก็ไม่สวมซ่งหรือกางเกงโตขึ้นจึงจะได้สวมทรงผม ผมตัดสั้น
ชายหนุ่มเสื้อ โดยทั่วไปไม่นิยมสวมเสื้อ ยกเว้นเมื่อไปวัดทำบุญ จะสวมเสื้อคอกลมผ่าหน้า แขนสั้น ตัดด้วยผ้าฝ้ายทดมือย้อมครามซ่งหรือกางเกง แต่เดิมนุ่งผ้าขาวม้าฝ้ายแบบนุ่งผ้าเตี่ยวเมื่อออกทำงานและนุ่งผ้าโสร่งเมื่อไปวัดทำบุญหรืองานเทศกาลต่าง ๆ มีผ้าขาวม้าพาดไหล่ ในระยะต่อมานิยมสวมกางเกงที่เรียกว่า ซ่งอุดร(ทรงอุดร) เป็นกางเกงขาสั้นคล้ายกางเกงนักเรียนเข้าใจว่าพ่อค้าจากเมืองอุดรธานีนำเข้ามาขายในหมู่บ้าน ยังมีกางเกงอีกชนิดหนึ่งเป็นกางเกงขาสั้นหูรูด เรียกทรงหูฮุดหรือซ่งน้อยหูฮูด ภายหลังใช้เป็นกางเกงชั้นใน ต่อมามีกางเกงทรงฮั่งหรือกางเกงขาก๊วยเป็นกางเกงย้อมคราม ซึ่งสมัยนั้นเวลาตัดจะใช้พร้าหัวโต (มีดอีโต้) ตัด
แทนกรรไกรและใช้มือเย็บเนื่องจากกรรไกรในสมัยนั้นหายาก มีราคาแพงต้องเก็บเอาไว้สำหรับตัดผม ไม่นำมาใช้ตัดเสื้อผ้าทรงผม ไว้ผมทรงปีก คือ หวีผมแสกกลางมีปีกสองข้างเอาไว้สะลิด(สะบัด)ชายมีอายุ ถ้าอยู่บ้านอาจนุ่งขาวม้าหรือนุ่งซ่งหูรูด ไม่ค่อยสวมเสื้อ ยกเว้นไปวัดไปงานบุญก็จะแต่งกายเหมือนผู้ชายเผ่าอื่น ๆ กลุ่มโทโย้ยนี้นิยมทอผ้าฝ้ายย้อมครามใช้มาแต่ดั้งเดิม ภายหลังได้พัฒนาการทอผ้าฝ้ายในกลุ่มตนเองเป็นการทอแบบมัดหมี่เป็นลวดลายต่าง ๆ ปัจจุบันมีแหล่งทอผ้าฝ้ายดังกล่าวที่บ้านวาใหญ่ วาน้อย และบ้านดอนแดง ซึ่งมีชื่อเสียงในการทอผ้าย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกไม้และแก่นไม้เป็นต้น ผ้าที่ทอนอกจากจะทอเป็นผ้าซิ่น ผ้าตัดเสื้อแล้วยังมีการทอผ้าห่ม ผ้าจ่อง ที่มีลวดลายสวยงาม สามารถนำไปเป็นผ้าสไบได้อีกด้วย


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น